เชื่อว่าแม่ๆ หลายคนคงต้องเจอกับปัญหาลูกอมข้าว จะป้อนข้าวลูกทีไรเหมือนอยู่ในสงครามเลยก็ว่าได้ เพราะไหนลูกจะห่วงเล่น เลือกกิน งอแง และหนึ่งในปัญหาที่คุณแม่แทบทุกคนต้องเจอแน่ๆ คือ ปัญหาลูกอมข้าว ซึ่งมักเจอในเด็กอายุ 1-3 ปี อยู่บ่อยครั้ง เมื่อป้อนข้าวให้กับลูก คุณพ่อคุณแม่อย่างเราก็ต้องลุ้นตลอด กว่าลูกจะกลืนข้าวได้แต่ละคำนั้นก็ใช้เวลาน๊านนาน หลอกล่อก็แล้ว พูดโน้มน้าวก็แล้ว ลูกก็ยังอมข้าวไม่ยอมเคี้ยวสักที จริงมั้ยคะ? วันนี้แม็กกี้ มี 6 เคล็ดลับดีๆ มานำเสนอเพื่อสร้างวินัยการกินของลูกให้ป้อนปุ๊บเคี้ยวปั๊บมาแนะนำค่ะ เพราะถ้าไม่รีบหาทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอมข้าวของลูกตอนนี้ อาจส่งผลเสีย ต่อสุขภาพลูกรักของเราในระยะยาวได้นะคะ
6 เคล็ดลับแก้ปัญหาลูกอมข้าว
ปัญหาลูกอมข้าวนั้นเกิดมาจากหลายสาเหตุ เช่น การห่วงเล่น เล่นไปกินข้าวไป หรือรสชาติอาหารซ้ำๆ เดิมๆ เป็นต้น ช่วงกินข้าวสำหรับเด็กๆ นั้นมักเป็นช่วงที่น่าเบื่อ ดังนั้นถ้าคุณแม่พอจะสังเกตเห็นแล้วว่าลูกของเรามักจะอมข้าวด้วยสาเหตุไหนก็รับมือ และแก้ไขให้ตรงจุดได้ไม่ยากค่ะ หรือจะลองนำ 6 เคล็ดลับต่อไปนี้ไปใช้เพื่อฝึกวินัยการกินของลูก รับรองเลยว่าป้อนข้าวปุ๊บเคี้ยวปั๊บแน่นอนค่ะ
1. กินข้าวให้ตรงเวลา : ลองฝึกให้ลูกกินอาหารให้เป็นเวลาทั้ง 3 มื้อ และที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่เองควรกินข้าว พร้อมกับลูกด้วยนะคะ เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกได้รู้ว่าเวลาตอนนี้คือช่วงเวลากินข้าวของครอบครัว และควรตัดสิ่งเร้าต่างๆ ออกไป เช่น ของเล่น การดูทีวี และโทรศัพท์มือถือด้วยค่ะ เพราะเด็กในช่วงอายุ 1-3 ปีนั้น จะเป็นช่วงเวลาเรียนรู้ จากสิ่งที่พ่อแม่ทำ ควรทำไปเรื่อยๆ ปัญหาลูกอมข้าวก็จะค่อยๆ ลดลงไปและเป็นการฝึกวินัยการกินให้ลูกด้วยนะคะ
2. สร้างสรรค์เมนูอร่อยไม่ซ้ำจำเจ : คุณแม่ลองปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้ไม่ซ้ำจำเจ เพื่อไม่ให้ลูกเบื่ออาหาร ลองถามลูกว่าอยากกินอะไรแล้วลองปรุงเป็นเมนูมื้อต่อไปดูนะคะ และควรมีขนาดที่พอดีคำ เวลาตักป้อนลูกให้ตักแต่ทีละน้อย เพื่อทำให้ลูกน้อยของเราเคี้ยวได้ง่ายขึ้น ถ้าลูกกินหมดแล้วก็ค่อยเติมให้ใหม่ แบบนี้จะสร้างกำลังใจให้ลูกและฝึกวินัยการกินอาหารได้ดีกว่าการตักทีละเยอะๆ ค่ะ
3. เปลี่ยนบรรยากาศสร้างฟิลกู้ดให้ลูกน้อย : ลองเปลี่ยนบรรยากาศในการกินข้าวของลูกดูบ้างก็ดีนะคะ เพราะการเปลี่ยนสถานที่กินข้าวจะทำให้ลูกรักของพวกเราเจริญอาหารมากขึ้น เช่น พาออกไปกินข้าวในสวนที่มีธรรมชาติร่มรื่น หรือลองหาวันที่อากาศดีๆ ออกไปปิกนิก ไม่ก็ลองชวนเพื่อนๆ มากินข้าวด้วยกันเพื่อเพิ่มบรรยากาศที่ดี ลูกก็จะรู้สึกไม่เบื่อ และกินอาหารได้มากขึ้นด้วยค่ะ
4. ให้ลูกตักเองบ้าง : ขอบอกเลยว่างานนี้มีเลอะอย่างแน่นอน แต่จะส่งผลดีต่อลูกรักของเราด้วยแน่นอนค่ะ เพราะการที่ลูกได้ลองฝึกทำเหมือนพ่อและแม่นั้น เด็กๆ จะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง ที่ทำได้ และมีความรู้สึกที่อยากจะพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นลองมีมื้อเลอะๆ ดูบ้าง ก็จะทำให้ลูกได้ฝึกนิสัยการกินที่ดีให้กับตัวลูกเอง
5. งดขนมก่อนมื้ออาหาร : คุณพ่อคุณแม่ควรงดของว่างจำพวกขนม หรือของหวานต่างๆ ก่อนอาหารมื้อหลักนะคะ เพราะถ้าลูกกินขนมมากเกินไปจะทำให้อิ่มจนไม่อยากกินข้าวได้ ลูกๆ จะรู้สึกไม่หิว ไม่อยากกินข้าว และเกิดอาการอมข้าวไม่ยอมเคี้ยวหรือกลืนได้ค่ะ
6. เสริมสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ : เด็กในวัยนี้ต้องการสารอาหารที่ครบทั้ง 5 หมู่เพื่อการเจริญเติบโตของระบบร่างกาย และพัฒนาการของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่อาจจะเสริมด้วยอาหารเสริม ให้ลูกได้เรียนรู้การกินอาหารอื่นๆ บ้าง นอกจากนม โดยอาจจะเลือกเป็นผักหรือผลไม้ชิ้นเล็กๆ เช่น แคร์รอต ฟักทองหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เป็นต้น เพื่อช่วยฝึกทักษะการบดเคี้ยวของเจ้าตัวเล็กให้ดีขึ้นค่ะ